“สภาการสื่อมวลชน – กองทุนสื่อ” KICK OFF โครงการฯอ่านหนังสือพิมพ์เด็กนักเรียน ป.5
กองทุนสื่อ สภาการสื่อมวลชน พร้อมภาคีสมาชิกสื่อ 11 ฉบับ สพฐ. กทม. ร่วม KICK OFF โครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” จัดเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมสื่อกับการรู้เท่าทันสื่อในห้องเรียนภาษาไทย”
เสริมทักษะการอ่านในชั้นเรียนระดับประถมศึกษา ผ่านการอ่านหนังสือพิมพ์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จับมือ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” สื่อหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร อบรมครูภาษาไทย โรงเรียน 220 แห่ง สอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรียนรู้จากหนังสือพิมพ์ฉบับจริง การสร้างภูมิการเรียนรู้อย่างเท่าทันสื่อ
โครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมี มูลนิธิสภาการสื่อมวลชนและสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ดำเนินการบริหารจัดการโครงการ และได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ในส่วนของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และโครงการฯ ได้ใช้หนังสือพิมพ์ สำหรับการให้ความรู้ทั้งส่วนกลาง และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น สำหรับการเรียนรู้ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา หนังสือพิมพ์หัวหินสาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ หนังสือพิมพ์ส่องใต้นิวส์ จ.สตูล หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จ.เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย จ.อุบลราชธานี
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า มูลนิธิสภาการสื่อมวลชนและสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเองด้านจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อ เพื่อการรับรู้ข่าวสาร การรู้เท่าทันสื่อ (Mass Media Literacy) และการแสดงความคิดเห็น เห็นว่าสามารถทำหน้าที่สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อได้ เกิดการตระหนักรู้ และจำแนกเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ อันเป็นพื้นฐานทักษะของการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล 4.0 และส่งผลต่อการรู้เท่าทันจากการเรียนรู้จากสื่อหนังสือพิมพ์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ หลากหลายแพลตฟอร์มได้อย่างมีคุณค่า โดยเมื่อปี 2547 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก่อนเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติในปัจจุบัน ได้จัดโครงการอบรมส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในกลุ่มเยาวชน ร่วมกับสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สมาคมหนังสือพิมพ์โลก และปี 2554 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้จัดโครงการสัปดาห์ส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ในโรงเรียน
“การสร้างภูมิการเรียนรู้อย่างเท่าทันสื่อ และการสร้างการเรียนรู้ ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ ในวัยเด็ก ในระดับชั้นประถมศึกษา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จากการอ่าน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการแสวงหาความรู้ และใช้ความรู้ที่ได้จากการอ่านในการปรับตัว เป็นทักษะด้านการรับรู้ที่สำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องมือเรียนรู้สิ่งต่างๆ อันเป็นรากฐานของการเรียนรู้ แต่ละสาขาวิชา และเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ ความสามารถของผู้อ่าน ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ได้ผลระยะยาวมากที่สุด และยังได้เสริมสร้างชุดทักษะความรู้ จากกระบวนโต้ตอบ การพูดคุย ซักถาม ผ่านกิจกรรมในกระบวนการระหว่างการเรียนรู้จากการอ่าน” ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าว
โครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” ได้คัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วม 220 แห่ง จาก โรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตพื้นที่ กทม. จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สตูล เชียงใหม่ อุบลราชธานี โดยโครงการฯ เข้าไปทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทย
โครงการฯ ดำเนินกิจกรรม 2 ส่วน ประกอบด้วย
1. การฝึกอบรมเรียนรู้ด้วยหนังสือพิมพ์และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ แก่คุณครู ที่รับผิดชอบการสอนในรายวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้น ป. 5 โดยจะอบรมครู 1 คน ต่อ 1 โรงเรียน โดยจะทำการอบรม 1 วัน ในการเรียนรู้คุณลักษณะของหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ การเรียนรู้การเท่าทันสื่อ จากผู้แทนของหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน เพื่อนำไปประยุกต์ออกแบบการสอนในชั่วโมงการสอนในรายวิชาภาษาไทย
2. การทำกิจกรรมสัปดาห์ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” โดยคุณครูจะทำการสอนแก่นักเรียนระดับชั้น ป.5 ในรายวิชาภาษาไทย จำนวน 5 วัน ๆ ละ 1 ชั่วโมง ที่จะเรียนรู้จากหนังสือพิมพ์ฉบับจริง จำนวน 5 ฉบับ ร่วมกับแบบฝึกหัดการเรียนรู้ ที่ได้ออกแบบเนื้อหาการสอน และการทำกิจกรรมการเสริมสร้างทักษะการอ่านหนังสือพิมพ์ อาทิ การจำแนกข่าว การเรียนรู้จากเนื้อหาข่าว การจำแนกความแตกต่างหนังสือพิมพ์กับหนังสือพิมพ์ออนไลน์ การรู้เท่าทันสื่อ การใช้สื่อปลอดภัย เนื้อหาปลอดภัย เท่าทันภัยไซเบอร์ ซึ่งโครงการนี้จะให้เด็กนักเรียนระดับชั้น ป. 5 จำนวนกว่า 4,500 คน ได้เรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะจากการอ่านหนังสือพิมพ์
สำหรับ กิจกรรมอบรมครู 1 วัน 1 คน / 1โรงเรียน ในเขตพื้นที่ กทม. จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ส่วนพื้นที่ภูมิภาค ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สตูล เชียงใหม่ อุบลราชธานี จะทำการอบรมในพื้นที่จังหวัดนั้นในเดือนมกราคม 2568 เมื่อหลังจากจบการเรียนรู้ เวิร์คชอป คุณครูจะนำไปจัด กิจกรรมสัปดาห์ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” 5 วัน ในชั้นเรียนวิชาภาษาไทย ระดับชั้น ป.5 โดยในส่วน กทม. ปริมณฑล ภาคกลาง ที่ใช้หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน กรุงเทพธุรกิจ จะจัดกิจกรรมฯ วันที่ 3-7 กุมภาพันธ์ 2568 และส่วนพื้นที่จังหวัดภูมิภาค กลุ่มโรงเรียนที่ใช้หนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาค 8 ฉบับ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์ประชามติ จ.ตราด หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ จ.เพชรบุรี หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จ.สงขลา หนังสือพิมพ์หัวหินสาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ หนังสือพิมพ์ส่องใต้นิวส์ จ.สตูล หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ จ.เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ปทุมมาลัย จ.อุบลราชธานี จะจัดสัปดาห์ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” ระหว่างวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2568
หลังจากเปิดตัวโครงการแล้วได้มีการเสวนา “นวัตกรรมสื่อกับการเรียนรู้เท่าทันสื่อในห้องเรียนภาษาไทย” ผู้ร่วมเสวนา ดร.วสันต์ สุทธาวาศ รองผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานคุณพจมาลย์ ปทุมบริสุทธิ์ ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะศึกษานิเทศก์ชำนาญการ หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร คุณฐิติวรรณ ไสวแสนยากร บรรณาธิการข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คุณทินกร เชาวน์ชื่น บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คุณภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส จังหวัดสงขลา ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม