KTC แกร่งสวนเศรษฐกิจ ครึ่งปีแรกกำไรทะลุ 3.7 พันล้าน พอร์ตสินเชื่อโตต่อเนื่อง ส่วนแบ่งตลาดโตทุกผลิตภัณฑ์!

KTC (บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)) โชว์ผลงานครึ่งปีแรก 2568 แข็งแกร่ง สวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยกำไรสุทธิ 3,755 ล้านบาท พร้อมพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 107,104 ล้านบาท และส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์หลัก ตอกย้ำศักยภาพการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน แม้สถานการณ์เศรษฐกิจยังคงท้าทาย
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC รายงานผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2568 ด้วยกำไรสุทธิ 3,755 ล้านบาท และพอร์ตสินเชื่อรวม 107,104 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดย KTC ได้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของธุรกิจ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุก และการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดในทุกผลิตภัณฑ์หลัก
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” เผยว่า แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 จะมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากภาคการส่งออกและการผลิตที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคโดยรวมที่ชะลอตัว แต่ KTC ยังสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่โดดเด่นและครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ลูกหนี้บัตรเครดิตมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 15.4% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นเป็น 13.3% และลูกหนี้สินเชื่อบุคคลมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6.8%
KTC ยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างยอดเยี่ยม ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยรักษาระดับเงินสำรองที่แข็งแกร่งและเพียงพอ อัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 1.83% และ NPL Coverage Ratio ที่ 419.9%
ในไตรมาส 2/2568 กลุ่มบริษัทยังคงรักษาฐานรายได้รวมให้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6,812 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เติบโตตามการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อและปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายรวมลดลงอยู่ที่ 4,340 ล้านบาท จากการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีและการลดลงของต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 2/2568 อยู่ที่ 1,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% และกำไรสุทธิครึ่งปีแรก 2568 อยู่ที่ 3,755 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5%

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี”
“นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจเพื่อผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง KTC ยังให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้กรอบการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตที่ยั่งยืน”
นางพิทยา กล่าวอีกว่า ด้วยปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพการเติบโตของ KTC หลังจากการซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ (Big Lot) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 จำนวน 129,204,600 หุ้น (5.01% ของทุนจดทะเบียน) และวันที่ 30 มิถุนายน 2568 จำนวน 243,262,200 หุ้น (9.45% ของทุนจดทะเบียน) ส่งผลให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยมีสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในวงกว้างต่อ KTC จากหลากหลายกลุ่มนักลงทุนอย่างชัดเจน โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 1 และให้การสนับสนุน KTC เช่นเดิม โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างผู้บริหาร และนโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและสร้างพอร์ตคุณภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
รายละเอียดข้อมูลสำคัญ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 KTC มีฐานสมาชิกรวม3,508,827 บัญชี และเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม107,104 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.2%) โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) ลดลงอยู่ที่1.83%
- จำนวนสมาชิกบัตรเครดิต: 2,813,627 บัตร (เพิ่มขึ้น 3.5%)
- เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม: 69,925 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.0%)
- NPL บัตรเครดิต: 1.14%
- ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรช่วงครึ่งปีแรก 2568: 146,584 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.4%)
- สมาชิกสินเชื่อบุคคล KTC: 695,200 บัญชี (ลดลง 5.1%)
- เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม: 35,396 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.0%)
- NPL สินเชื่อบุคคล: 2.32%
- ยอดสินเชื่อใหม่ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน”: 1,048 ล้านบาท
- ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL): 1,782 ล้านบาท (ลดลง 29.4%) ทั้งนี้ KTC ได้หยุดปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และมุ่งเน้นการติดตามหนี้และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และสภาพคล่องทางการเงิน
KTC ยังคงดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางในประกาศของ ธปท. ที่ 3/2568 เรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) โดยพิจารณาลูกหนี้แต่ละรายให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ เช่น การเปลี่ยนประเภทหนี้บัตรเครดิตเป็นสินเชื่อบุคคลระยะยาว, การลดภาระทางการเงินโดยเครดิตดอกเบี้ยคืนเข้าบัญชี, การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการปรับลดค่างวด สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktc.co.th/about/news/measure
ในฐานะสถาบันการเงินในกลุ่มธุรกิจของธนาคารกรุงไทย KTC ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ระยะที่ 1 และขยายสู่ระยะที่ 2 เพื่อสนับสนุนลูกหนี้กลุ่มเปราะบางให้ฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ผู้ที่เข้าเกณฑ์สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ถึง 30 กันยายน 2568 KTC ประเมินว่ามาตรการเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมผลการดำเนินงาน
ในส่วนของแหล่งเงินทุน กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น58,081 ล้านบาท (รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว 59% และระยะสั้น 41% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.64 เท่า ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 1.97 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับภาระผูกพัน (Debt Covenants) ที่กำหนดไว้ 10 เท่า
KTC มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) สำหรับเงินกู้ยืมระยะสั้น20,780 ล้านบาท และวงเงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารกรุงไทยอีก2,000 ล้านบาท โดยมีภาระหนี้หุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในครึ่งหลังของปี 2568 ทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาทสภาพคล่องในมือที่สูงกว่าภาระหนี้ที่ใกล้ครบกำหนดถึง 2.2 เท่า บ่งชี้ถึงสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่งอย่างยิ่ง