เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ เข้าพบ ‘ภูมิธรรม’ อำลาตำแหน่ง ยันเดินหน้าการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-บังกลาเทศ
วันนี้ นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในโอกาสพ้นจากหน้าที่ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล
นายภูมิธรรม ระบุว่า ตนเองขอชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยในการทำงานเชิงรุกอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-บังกลาเทศ โดยเฉพาะความสำเร็จในการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ (นางเชค ฮาซีนา) เมื่อเดือนเมษายน 2567 และยินดีที่บังกลาเทศตกลงจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee-JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 28-30 เดือนสิงหาคม 2567 ณ กรุงธากา ซึ่งจะเป็นเวทีหารือถึงแนวทางขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการริเริ่มที่จะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยยินดี ที่จะช่วยสานต่อภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จไปด้วยดี และขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่สนับสนุน และร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าอันดีระหว่างไทยกับบังกลาเทศมาโดยตลอด
โดยทางบังกลาเทศ ได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก และสนใจที่จะจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่า ด้วยการจัดซื้อผลผลิตการเกษตรและสินค้าพื้นฐาน ไทย – บังกลาเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการซื้อขายสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์จากไทย และ เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของบังกลาเทศ
สำหรับ บังกลาเทศ ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยในช่วง 4 เดือนของปี 2567 (มกราคม – เมษายน) การค้าระหว่างไทยกับบังกลาเทศ มีมูลค่า 366.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทย ไปบังกลาเทศมูลค่า 297.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปูนซีเมนต์ เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ และเคมีภัณฑ์
ส่วนการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 28.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 995.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ