พบ เพศหญิงป่วยมะเร็งเต้านม มากกว่าเพศชาย 100 เท่า
-
มะเร็งเต้านม พบบ่อยเป็นอันดับหนึ่งของสตรีไทยและมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี
-
แพทย์แนะ “ตรวจแมมโมแกรมร่วมกับอัลตร้าซาวด์”
-
ดักมะเร็งไม่ให้เล็ดลอด เพิ่มอัตรารอดชีวิต ลดโอกาสเป็นซ้ำ
ข้อมูลสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 พบหญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมสูงสุด 38,559 ราย ส่วนมากพบในหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 ราย รองลงมา คือ อายุ 50 – 59 ปี 12,181 ราย และ อายุ 40 – 49 ปี 5,177 ราย จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมักไม่มีอาการเริ่มแรกแสดงให้เห็น หรืออาจเป็นอาการเล็กน้อยทำให้มองข้ามไป จนกระทั่งมะเร็งเริ่มอยู่ในระยะลุกลาม มีอาการเด่นชัด แล้วค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งอาจสายเกินไป
มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งพบได้มากที่สุด ประมาณ 80% ส่วนมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำนม จะพบได้น้อยกว่า โดยพบประมาณ 10% นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของมะเร็งมาจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกันที่สำคัญ เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าเพศชายถึง 100 เท่า
รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระรามเก้า แนะนำว่า มะเร็งเต้านมยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดมากขึ้น ซึ่งสุภาพสตรีที่มีเกณฑ์หมาะสมที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองในแต่ละช่วงอายุ ควรปฏิบัติดังนี้
- อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ
- อายุ 30-35 ปี ตรวจเป็นพื้นฐาน (base line)
- อายุ 35-49 ปี ตรวจทุก 1-2 ปี
- อายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจปีละ 1 ครั้ง
ส่วนผู้ที่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยง อาทิ อายุ, เชื้อชาติ, ฮอร์โมนเพศ, พันธุกรรม หรือหน้าอกแน่น (Dense Breasts) ควรปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อปี แต่หากพบความผิดปกติ เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม หรือเต้านมมีรูปร่างผิดปกติเปลี่ยนไปจากเดิม กรณีนี้ต้องเข้าพบแพทย์ทันที”
เนื่องจากมะเร็งเต้านมในระยะแรกไม่มีอาการ ดังนั้น การคัดกรองด้วย เครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เข้ามาช่วย จะทำให้สามารถพบความผิดปกติในระยะแรกได้ โดยทั้ง 2 เทคนิคต่างล้วนมีความสำคัญต่อการตรวจพบมะเร็งเต้านม กล่าวคือ
การตรวจแมมโมแกรม (mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีเอกซเรย์ชนิดพิเศษ พลังงานต่ำ ไม่มีรังสีตกค้างในร่างกายหลังตรวจเสร็จ และไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกาย สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีความละเอียดสูง สามารถระบุตำแหน่งและค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว ทำให้วางแผนการรักษาได้เหมาะสม และเพิ่มโอกาสหายขาดจากมะเร็งร้ายได้
แม้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ผู้ที่เนื้อเต้านมหนาแน่นมาก จะทำให้ความแม่นยำในการตรวจด้วยแมมโมแกรมลดลง หรือ อาการบางอย่างของมะเร็งไม่อาจสรุปผลได้ด้วยแมมโมแกรมเพียงอย่างเดียว บางอาการของมะเร็งในระยะแรกเมื่อตรวจด้วยแมมโม แกรมแต่อาจไม่พบความผิดปกติ และในบางกรณี ขณะตรวจแมมโมแกรมอาจหนีบไม่ถึงก้อนเนื้อที่ผิดปกติ และไม่สามารถดึงเต้านมให้เข้ามาอยู่ในฟิล์มได้ เนื่องจากก้อนเนื้อบางตำแหน่งอยู่ด้านในมาก ๆ หรืออยู่บริเวณขอบของฐานเต้านมมากๆ
ส่วน การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์เต้านม (breast ultrasound) นั้น เป็นการตรวจโดยส่งคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เข้าไปในบริเวณเนื้อเต้านม สามารถบอกความแตกต่างของเนื้อเยื่อ ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำ เป็นก้อนเนื้อที่เสี่ยงหรืออาจเป็นมะเร็งได้ แต่จะเหมาะกับคนอายุน้อยกว่า 25 ปี และผู้ที่มีเต้านมหนาแน่นมาก (ผู้ที่มีอายุมากกว่านั้นสามารถตรวจด้วยวิธีนี้ได้ โดยตรวจร่วมกับการทำแมมโมแกรม) นอกจากนี้ อัลตร้าซาวด์ยังเหมาะกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ผู้หญิงในช่วงให้นมบุตร รวมถึงคนที่ผ่านการเสริมหน้าอกมา เป็นต้น”
มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ การตรวจร่างกายอาจยังตรวจไม่พบ เนื่องจากรอยโรคเล็กมากจึงเปรียบเสมือน “มฤตยูเงียบ” ดังนั้น การตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคลำเต้านมอย่างถูกวิธี ไปจนถึง การเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมร่วมกับการอัลตร้าซาวด์เต้านม และการตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง จึงมีความสำคัญ เพื่อความแม่นยำและถูกต้องที่มากยิ่งขึ้น
“โรคมะเร็ง หากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรกโอกาสที่จะรักษาให้หายนั้นมีสูง แต่ถ้าปล่อยไว้จนกระทั่งเป็นมาก โอกาสรักษาให้หายก็จะมีน้อยลง ดังนั้น สุภาพสตรีโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองและตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ การตรวจพบเร็วไม่เพียงส่งผลดีต่อการรักษา แต่ยังช่วยให้เรามีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายขึ้น” รศ.นพ.ประกาศิต ทิ้งท้าย